ปัจจุบันแพคเกจจิ้ง บรรจุภัณฑ์ หรือสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่เป็นเหมือนสิ่งอำนวยความสะดวกให้เราได้นำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย
ซึ่งสิ่งพิมพ์เหล่านี้ที่กล่าวมา ส่วนมากแล้วจะนำเอาวัสดุประเภทกระดาษมาใช้ในขั้นตอนของการผลิต แต่ก็ยังมีวัสดุประเภทอื่นมาใช้อีกเช่นกัน อาทิ พลาสติก โลหะ ไม้ หรืออะลูมิเนียม แต่สำหรับวัสดุประเภทกระดาษนั้นจะพิเศษกว่าวัสดุอื่นๆ ตรงที่จะสามารถแบ่งออกไปได้หลากหลายประเภท เช่น กระดาษปอนด์ กระดาษคราฟท์ กระดาษอาร์ต กระดาษแป้งหลังเทาเป็นต้น ซึ่งชนิดของกระดาษทั้งหมดนี้ต้องมีการกำหนดขนาดของน้ำหนัก หรือที่เรียกว่า แกรม (Gram)
โดยทั่วไปแล้วกระดาษแต่ละชนิดก็จะมีน้ำหนักที่เป็นมาตรฐานของแต่ละชนิดอยู่แล้วและในวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับค่าหน่วยวัดชนิดนี้กันว่าหมายถึงอะไรและจะมีความสำคัญต่อสื่อพิมพ์อย่างไรบ้าง
แกรม (Gram) คืออะไร?
คำว่า “แกรม (Gram)” ย่อมาจาก Gram Per Square Metre คือหน่วยที่บอกถึงขนาดความหนา และน้ำหนักของกระดาษ ซึ่งจะวัดหน่วยเป็น พื้นที่ของกระดาษเท่ากับ 1×1 ตารางเมตร ก็จะเหมือนกับการนำเอากระดาษไปวางบนตาชั่ง ได้น้ำหนักเท่าไร ผลที่ออกมาก็คือค่าจำนวนที่ออกมาเป็น แกรม (Gram) นั่นเอง ซึ่งกระดาษแต่ละชนิดก็จะมีน้ำหนักที่ไม่เท่ากัน เพราะกระดาษแต่ละชนิดจะมีความหนาบางที่ไม่เท่ากัน ฉะนั้นแล้วจึงต้องดูตามความเหมาะสมและความสมดุลของวัสดุแต่ละประเภท และน้ำหนักของแกรมยังเป็นตัวกำหนดขนาดของสินค้า ผลิตภัณฑ์ สื่อสิ่งพิมพ์ ว่าจะมีความหนา และควรจะดีไซน์ออกมาเป็นอย่างไร
น้ำหนักของแกรมที่เหมาะสมสำหรับนำไปผลิตเป็นชิ้นงานสิ่งพิมพ์แต่ละประเภท
สิ่งพิมพ์ แพคเกจจิ้ง บรรจุภัณฑ์ที่ถูกผลิตขึ้นโดยใช้วัสดุประเภทกระดาษนั้นเราจะสามารถจำแนกประเภทกระดาษออกไปได้หลายแบบ และสามารถกำหนดน้ำหนักที่จะนำไปใช้ออกแบบได้อีกด้วย ซึ่งส่วนมากสิ่งพิมพ์ แพคเกจจิ้ง บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้กระดาษเป็นวัสดุหลัก ก็จะมี นามบัตร ใบปลิว สติกเกอร์ฉลากสินค้า การ์ดเชิญ/แต่งงาน โปสเตอร์ กล่อง ซอง ถุง เป็นต้น ซึ่งกระดาษแต่ละชนิดที่จะเหมาะกับน้ำหนักแต่ละแกรมจะมีดังนี้
- กระดาษคราฟท์ น้ำหนักที่เหมาะสม คือ 150 – 500 แกรม
- กระดาษอาร์ต น้ำหนักที่เหมาะสม คือ 160 – 400 แกรม
- กระดาษอาร์ตมัน น้ำหนักที่เหมาะสม คือ 130 – 180 แกรม
- กระดาษแป้งหลังเทา น้ำหนักที่เหมาะสม คือ 300 – 500 แกรม
- กระดาษแป้งหลังขาว น้ำหนักที่เหมาะสม คือ 300 – 600 แกรม