เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ (About Packaging)

เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ (About Packaging) ปัจจุบันนี้มีความสำคัญมากๆ ของกระบวนการทางการตลาด เพราะเป็นการรวมทั้งศาสตร์และศิลป์ไว้ด้วยกัน และนำมาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถหุ้มห่อสินค้าได้ โดยจะต้องใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยให้เป็นประโยชน์มากที่สุด

โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องปกป้องสินค้าจากผู้ผลิตให้ถึงผู้บริโภคด้วยสภาพที่สมบูรณ์ และต้องมีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำที่สุด หรือในงบประมาณที่สามารถยอมรับได้

และการให้ความสำคัญกับ เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ในปัจจุบันนี้ เพราะเนื่องจากว่าสินค้าในสมัยนี้ไม่มีนวัตกรรมอะไรใหม่ๆ ที่จะฉีกแนวสินค้าออกไปจากเดิมอีกแล้ว ทำได้เพียงแค่แตกย่อยออกไปให้ดูแตกต่างกว่าเดิม เช่น เครื่องสำอาง ก็น่าจะสิ้นสุดเพียงเท่านี้

แต่มีการต่อยอดออกไป หรือมีการพัฒนาเพิ่มเติมจากเดิม แต่ไม่สามารถคิดค้นอะไรใหม่ๆ นอกจากนี้ได้อีกแล้ว ดังนั้น การจะทำยอดขายทางการตลาดได้ตรงเป้าหรือไม่ จึงต้องมาเน้นกันที่บรรจุภัณฑ์หีบห่อของสินค้า ที่เป็นหน้าตาและภาพลักษณ์ของสินค้าโดยตรง

โดยบรรจุภัณฑ์มีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ถุง กล่อง หรือ ขวด เป็นต้น หากเราสามารถเลือกบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม และมีหน้าตาที่สวยงาม จะยิ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้าให้เราได้อีกด้วย

วัตถุประสงค์ในการสร้างบรรจุภัณฑ์

ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นนั้น ว่าที่ดี จะต้องปกป้องสินค้าจากผู้ผลิตให้ถึงมือผู้บริโภคในสภาพที่มีความสมบูรณ์มากที่สุด และต้องมีราคาที่เหมาะสม ไม่แพงเกินไปจนทำให้ต้นทุนของสินค้าเพิ่มต้องเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีวัตถุประสงค์อีกหลายข้อ ที่ผู้ผลิตที่กำลังจะสร้างบรรจุภัณฑ์จำเป็นต้องรู้ มีรายละเอียดต่อไปนี้

  • เป็นการนำความรู้ทางด้านศิลปะเข้ามาประยุกต์โดยการออกแบบเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ให้มีความเป็นเอกลักษณ์ ผ่านการสื่อสารทางแบรนด์ เมื่อผู้บริโภคเห็นก็สามารถจดจำได้ทันทีว่า กล่องสินค้าที่เห็นอยู่ตรงหน้า เป็นของแบรนด์อะไร และข้างในบรรจุอะไร มีคุณประโยชน์อย่างไร
  • เป็นการเพิ่มภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรที่เป็นผู้ผลิตสินค้า เพราะแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในผลิตภัณฑ์ และไม่มองข้ามแม้กระทั่งบรรจุภัณฑ์ จึงให้ลูกค้ามีความพึงพอใจและเชื่อมั่นว่า สินค้าภายในจะต้องมีคุณภาพดีจากภาพลักษณ์ภายนอกที่ดูดีมีราคา ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้บริโภคยอมเสียเงินในราคาที่แพงขึ้นของสินค้าเมื่อเทียบกับสินค้าชนิดเดียวกันที่มีบรรจุภัณฑ์แบบธรรมดา

ประเภทของบรรจุภัณฑ์ที่ควรรู้จัก

ประเภทของบรรจุภัณฑ์สามารถแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะใหญ่ ๆ คือ

1. บรรจุภัณฑ์แบบหน่วย

บรรจุภัณฑ์ประเภทนี้จะห่อหุ้มสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของคุณโดยตรง เช่น กระป๋องบรรจุอาหาร ถุงใส่ขนมต่างๆ หรือกล่องใส่เค้กเป็นชิ้นๆ คุณสมบัติของบรรจุภัณฑ์ประเภทหน่วยคือการป้องกันสินค้าจากความชื้นและอากาศในระยะเวลาสั้นๆ (ยกเว้นแต่สินค้ามีการใส่วัตถุกันเสีย)

โดยส่วนมากแล้วบรรจุภัณฑ์ประเภทนี้จะได้รับการออกแบบให้มีความแข็งแรงเหมาะแก่การจับหรือถือ มีรายละเอียดที่เรียบง่าย เพราะป้องกันสารเคมีที่เกิดจากการสกรีนบรรจุภัณฑ์เจือปนไปกับสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นอาหาร

2. บรรจุภัณฑ์ชั้นรองหรือชั้นใน

บรรจุภัณฑ์ชั้นนี้ จะมีหน้าที่ปกป้องบรรจุภัณฑ์ต่อหน่วยอีก 1 ชั้นเพื่อไม่ให้รับแรงกระแทกจากภายนอกเวลามีการขนส่งสินค้า หรือมีการกระทบกันของสินค้า เช่น กล่องลิปสติก กล่องยาสีฟัน และยังสามารถรวมบรรจุภัณฑ์แบบหน่วยเข้าไว้ด้วยกัน

เพื่ออำนวยสะดวกในการขาย เช่น การรวมสินค้าตั้งแต่ 6-12-24 ชิ้นขึ้นไป โดยบรรจุภัณฑ์ในส่วนนี้จะต้องมีความแข็งแรงไม่แพ้บรรจุภัณฑ์แบบหน่วย ต้องทนต่อแสงแดด ความชื้น ความร้อน และแรงกระแทกได้ หากตกหล่นต้องไม่เกิดรอยบุบหรือความเสียหายมาก จะต้องมีความพิถีพิถันในเรื่องของการออกแบบมากกว่าบรรจุภัณฑ์ประเภทหน่วย เพราะจะทำให้ดึงดูดใจผู้บริโภคในการซื้อแบบแพ็คมากกว่า

เช่น กล่องขนมชนิด 20 ซอง กล่องช็อคโกแลตแบบยกชุด หรือถึงใส่ขนมที่มีบรรจุภัณฑ์หุ้มตัวขนมแล้วอีกชั้นหนึ่ง เป็นต้น

3. บรรจุภัณฑ์ชั้นนอกสุด

เป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดใหญ่เพื่อป้องกันผลิตภัณฑ์ทั้งหมด นิยมใช้ในการขนส่งและประหยัดพื้นที่ในการจัดเรียง ส่วนมากบรรจุภัณฑ์ประเภทนี้จะเป็น กล่องลูกฟูก หีบสินค้า ลังไม้ ลังกระดาษ ที่มีความแข็งแรงเป็นพิเศษ ต้องทนต่อการฉีกขาดได้ ทนน้ำ ทนแดด ทนแรงกระแทกอย่างแรง เพื่อป้องกันสินค้าภายในไม่ให้เกิดความเสียหาย

ความเข้าใจผิดในเรื่องของบรรจุภัณฑ์

แต่ทั้งนี้ ก็ยังมีคนส่วนมากที่ยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์อยู่จำนวนไม่น้อย และเข้าใจว่าสิ่งใดก็ตามที่ใช้บรรจุผลิตภัณฑ์ จะต้องเรียกสิ่งนั้นว่าบรรจุภัณฑ์หมด เช่น ซื้อน้ำผลไม้แบบกล่องใหญ่มา แล้วรินใส่แก้วน้ำ 1 ใบ บรรจุภัณฑ์ในที่นี้คือกล่องใส่น้ำผลไม้ ส่วนแก้วน้ำเป็นเพียงภาชนะสำหรับบรรจุเพียงเท่านั้น

เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของกล่องบรรจุภัณฑ์ให้ชัดแจ้ง จะขอเปรียบเทียบกับผงซักฟอกที่มีขายทั่วไป หากผู้บริโภคไปเจอผงซักฟอกบรรจุถุงใสแบบธรรมดา เขียนข้างถุงด้วยปากกาเคมีว่า 1KG และราคา 30 บาท แน่นอนว่าผงซักฟอกแบบนี้ราคาถูกกว่าผงซักฟอกที่วางขายตามร้านค้าและห้างสรรพสินค้าแน่นอน

แต่ผู้บริโภคจะตัดสินใจซื้อหรือไม่ ถึงแม้ว่าผู้ขายจะบอกว่าแบ่งมาจากผงซักฟอกยี่ห้อดังก็ตาม การลังเลที่เกิดขึ้นนี่คือการชั่งน้ำหนักด้วยเหตุผล (Rational Choice) ว่ามีอะไรมายืนยันว่าผงซักฟอกในถุงใส แบ่งมาตามที่ผู้ขายว่าจริง และนี่คือประโยชน์ของบรรจุภัณฑ์ในแง่ของการสื่อสารแบรนด์ และการตลาด

ปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อราคาบรรจุภัณฑ์ที่ผู้ผลิตควรรู้

เพราะการออกแบบ หรือผลิตบรรจุภัณฑ์ขึ้นมา ไม่ได้เป็นเรื่องของบุคคลคนเดียว หรือแค่ 2 คน แต่ยังมีองค์ประกอบอีกหลายอย่างที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่เว้นแม้กระทั่งร้านที่รับทำบรรจุภัณฑ์ ดังนั้นผู้ผลิตจึงควรศึกษาหัวข้อนี้ให้ละเอียด เพื่อใช้ทบทวนในการตัดสินใจทุกครั้งก่อนมีการออกแบบผลิตภัณฑ์

1. ราคาต้นทุนของวัสดุที่นำมาใช้ทำบรรจุภัณฑ์

เพราะวัสดุมีให้เลือกหลายชนิดมาก ๆ เช่น หากต้องการผลิตกล่องกระดาษสำหรับใส่สินค้า จะต้องเลือกว่าใช้กระดาษแบบใด เช่นกระดาษมัน กระดาษอาร์ต และจะต้องมีเทคนิคพิเศษอย่างไร

หรือถ้าหากเลือกผลิตถุงสำหรับใส่สินค้า จะต้องใช้ถุงขนาดไหน เป็นพลาสติกประเภทอะไร เป็นต้น จึงควรมีการสอบถามและเปรียบเทียบความคุ้มค่าของวัสดุที่นำมาใช้อย่างละเอียดทุกครั้ง

2. ราคาของการสั่งผลิตบรรจุภัณฑ์

เพราะแต่ละร้านที่รับทำบรรจุภัณฑ์มีราคาไม่เหมือนกัน บางร้านก็มีโปรโมชั่นให้เลือกมากมาย หรือบางร้านยิ่งสั่งเยอะก็ยิ่งถูกลง ดังนั้นจึงควรคำนวณมีการคำนวณบรรจุภัณฑ์ที่จะต้องใช้ให้เพียงพอต่อสินค้าก่อนการสั่งผลิต โดยจะต้องมีการเผื่อเวลาไว้อย่างเหมาะสมกับการนำไปใช้ เพราะถ้าหากผู้ผลิตสั่งงานด่วน จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า

3. ราคาของการขนส่งและการเก็บรักษาบรรจุภัณฑ์

เมื่อมีการสั่งผลิตบรรจุภัณฑ์แล้ว ปัจจัยต่อไปที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องคือเรื่องของการขนส่ง และการเก็บรักษา เพราะส่วนมากแล้วการขนส่งมักจะมีค่าบริการที่แยกกับการสั่งผลิต

จึงควรสอบถามร้านที่รับผลิตทุกครั้งว่ามีค่าขนส่งอย่างไร สามารถมารับเองได้หรือไม่ ส่วนวิธีเก็บรักษาก็แล้วแต่ว่าผู้ผลิตจะนำไปเก็บรักษาอย่างไร ยิ่งเก็บไว้นานก็อาจทำให้มีความเสียหายเกิดขึ้นต่อบรรจุภัณฑ์

เช่น ปลวกกัดแทะ เจอแสงแดด หรือเปียกชื้น ขึ้นอยู่กับสถานที่เก็บ หากเจอกรณีดังกล่าว ก็เท่ากับว่าต้องสั่งผลิตใหม่เลย  กลายเป็นการเพิ่มต้นทุนสินค้าโดยใช่เหตุ

4. ราคาของการใช้แรงงานที่เกี่ยวข้อง

ขึ้นอยู่กับว่าเราจะนำบรรจุภัณฑ์มาใส่สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ได้อย่างไร โดยอาจจะมีการใช้แรงงานในการบรรจุเอง หรือการใช้เครื่องจักรในการบรรจุ รวมถึงแรงงานที่ดูแลเรื่องการขนส่งสินค้า หรือเก็บรักษาตามรายละเอียดในข้อ 3 อย่าลืมนำปัจจัยในข้อนี้ไปบวกกับต้นทุนของสินค้าด้วย เพื่อที่คุณจะได้ประเมินราคาให้เหมาะสมเมื่อต้องการนำสินค้าไปวางในตลาด

ขั้นตอนการออกแบบบรรจุภัณฑ์

เมื่อรู้รายละเอียดและเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์แล้ว รายการต่อไปที่เหล่าผู้ผลิตควรรู้ก็คือเรื่องราวของการออกแบบบรรจุภัณฑ์ หากไม่มีความรู้ในด้านนี้ ควรออกแบบเบื้องต้น โดยการใช้หลัก 5W 2H คือ

  • Who – สินค้าของเราชิ้นนี้ต้องการจะขายให้กับใคร เช่น ผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก วัยรุ่น ผู้สูงอายุ
  • When – เราจะขายสินค้าชิ้นนี้เมื่อใด หรือโอกาสใด เช่น วางขายได้เลย เทศกาลวาเลนไทน์ ช่วงวันปีใหม่
  • Where – เราจะขายสินค้าชนิดนี้ที่ใด เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ตลาดทั่วไป ส่งออกไปต่างประเทศ
  • Why – ด้วยเหตุผลอะไร ทำอย่างไรลูกค้าถึงจะชอบสินค้าชนิดนี้ของเรา
  • What – สินค้าของเราคืออะไร มีประโยชน์อะไรให้ลูกค้าสนใจ
  • How – เราจะต้องใช้วิธีอะไรในการดึงดูดลูกค้าให้มาบริโภคสินค้าของเรา
  • How much – เราจะต้องขายราคาเท่าใด ?

และนี่คือพื้นฐานเบื้องต้นของการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ควรจะรู้ไว้ หากสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ทุกข้อ การออกแบบก็จะยิ่งจำกัดวงแคบลงไป และทำให้มองเห็นภาพบรรจุภัณฑ์ได้ง่ายขึ้น รวมถึงการจ้างนักออกแบบให้ผลิตให้ หากคุณมีความรู้อยู่บ้าง ก็จะช่วยไกด์ไลน์ให้นักออกแบบสามารถดีไซน์ได้ตรงตามความต้องการมากยิ่งขึ้นด้วย

คุณลักษณะของบรรจุภัณฑ์ที่ดี

ปิดท้ายกันด้วย ความรู้ในเรื่องของบรรจุภัณฑ์ที่ดี แม้คุณจะทราบเกี่ยวกับรายละเอียดของบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดแล้ว แต่คุณลักษณะก็เป็นสิ่งที่พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง เพราะสินค้าของคุณจะปัง หรือจะพัง ขึ้นอยู่กับสิ่งนี้

1. ความสวยงาม

เพราะบรรจุภัณฑ์จะต้องอยู่คู่กับสินค้าของคุณไปอีกยาวนาน คุณจึงต้องวางแผนให้ดีในการตัดสินใจออกแบบบรรจุภัณฑ์ภายในครั้งเดียวให้คุ้มค่าที่สุด เพราะถ้าหากทำออกมาแล้วไม่เรียบร้อยหรือไม่เป็นที่พอใจ เท่ากับคุณต้องกลับไปนับ 1 ใหม่ และจะต้องเสียค่าใช้จ่ายใหม่ตั้งแต่ต้น

ซึ่งคุณไม่สามารถนำสิ่งนี้มาบวกเป็นค่าต้นทุนได้ และสุดท้ายคุณจะต้องแบกรับการขาดทุนในส่วนนี้ไว้เอง คุณจึงต้องใส่ใจเรื่องนี้ให้มาก ๆ ดังนั้นจึงควรหาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยดูแลในส่วนนี้ จะเบาแรงไปได้เยอะ

2. การบรรจุ

เมื่อเราออกแบบบรรจุภัณฑ์จนเป็นที่พอใจแล้ว และเริ่มดำเนินการผลิต อย่าลืมคำนึงถึงการบรรจุด้วยว่า บรรจุภัณฑ์สามารถใส่ผลิตภัณฑ์ได้โดยง่ายหรือไม่ และถ้าหากมีการใช้เครื่องจักรในการบรรจุจะเกิดความเสียหายต่อบรรจุภัณฑ์หรือเปล่า ขั้นตอนนี้หากมีการประเมินดี ๆ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากแรงงานได้อีกด้วย

3. การขนส่ง

เมื่อบรรจุเสร็จแล้ว รายการต่อไปคุณจะต้องนำสินค้าไปทำการขนส่งเพื่อให้สินค้าของคุณได้วางตลาด บรรจุภัณฑ์ของคุณจึงควรมีความแข็งแรงมากพอในกรณีที่เกิดการกระทบกระเทือน หรือตกหล่นระหว่างขนส่ง สามารถช่วยปกป้องไม่ทำให้สินค้าภายในของคุณเสียหาย รวมทั้งพื้นที่ในการวาง

ยิ่งบรรจุภัณฑ์ของคุณมีความกว้างใหญ่ หรือมีหลายเหลี่ยมจนสามารถทำให้วางได้ยากเท่าไร ก็ยิ่งกินพื้นที่มากขึ้นเท่านั้น ทำให้คุณต้องเพิ่มต้นทุนในส่วนของค่าขนส่งมากขึ้นตามไปด้วย และจะกลายเป็นว่าต้องมาเพิ่มต้นทุนของสินค้าอีก

4. การเก็บรักษา

ก่อนจะมีการจัดวางสินค้าเพื่อจำหน่าย สินค้าของคุณจะต้องถูกนำไปเก็บในสถานที่เก็บก่อน หากคุณออกแบบกล่องเป็นรูปวงกลม สามเหลี่ยม หรือหกเหลี่ยม ก็อาจทำให้เปลืองพื้นที่ในการจัดเก็บมากกว่ากล่องทรงสี่เหลี่ยม และอาจทำให้สินค้าภายในชำรุดด้วยหากเกิดการกระแทกระหว่างสินค้า

ถ้าหากสินค้าของคุณไม่สามารถทนต่อความร้อนหรือสภาพอาการแบบอื่น ๆ ได้ ควรเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีความทนทานแข็งแรงกว่าปกติ และกล่องที่แนะนำที่สุดคือกล่องที่มีรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยม เพราะสามารถทนต่อแรงกระแทกได้มากกว่ารูปทรงอื่น ๆ

5. ลูกเล่นเสริม

ยิ่งแพคบรรจุภัณฑ์ของคุณมีความสวยงามมากขึ้นเท่าไร ยิ่งมีโอกาสที่คุณจะได้รับการโฆษณาทางอ้อมมากยิ่งขึ้น ถ้าคุณออกแบบให้บรรจุภัณฑ์ของคุณมีลูกเล่นที่ไม่เหมือนใคร มีความแปลกใหม่แบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์ของคุณไปจะต้องชอบใจและอดใจไม่ได้ที่จะโพสรูปสินค้าของคุณลง Social Network เพื่ออวดเพื่อนๆ

ซึ่งนับว่าเป็นการโฆษณาทางอ้อม โดยที่คุณไม่ต้องเสียเงินแม้แต่บาทเดียว และด้วยการโฆษณาแบบปากต่อปากนี้เองก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้ยอดขายของคุณเพิ่มสูงขึ้นได้ โดยที่คุณเองก็อาจจะไม่คาดคิดมาก่อน